; การดูแลและฟื้นฟูผู้ป่วยโรคหลอดเลือดและสมอง (Stroke) -โรงพยาบาลแมคคอร์มิค เชียงใหม่ McCormick Hospital ChiangMai

การดูแลและฟื้นฟูผู้ป่วยโรคหลอดเลือดและสมอง (Stroke)


          ปัจจุบัน ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองมีมากขึ้น และโอกาสที่รอดชีวิตมีมากขึ้นเนื่องจากมีความก้าวหน้าทางการแพทย์ การบำบัดฟื้นฟูสามารถช่วยลดอาการผิดปกติและเพิ่มสมรรถภาพของผู้ป่วย

          ลักษณะอาการที่พบบ่อยคือ อัมพาตอ่อนแรง ขยับแขนขาได้น้อย หรือไม่ได้เลย ทำให้ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ปากเบี้ยว มีน้ำลายไหล พูดไม่ชัด ดูดกลืนน้ำลายและอาหารลำบาก ชาแขนขาข้างที่อัมพาต ไม่รู้สึกเวลาโดนของร้อน หรือของมีคม ข้อไหล่หลวมหลุด ซึ่งเกิดจากกล้ามเนื้อรอบหัวไหล่อ่อนแรง กล้ามเนื้อเกร็งกระตุก ซึ่งอาจพบได้ในระยะต่อมาของการเป็นอัมพาตแขนและมือปวดบวม ซึ่งอาจเกิดจากการไม่เคลื่อนไหวแขนและขา มีปัญหาด้านการกลืน ทำให้มีโอกาสสำลักอาหารเข้าปอด และเป็นโรคปอดอักเสบตามมาได้  ปัญหาต่างๆ ควรได้รับการดูแลรักษาฟื้นฟูโดยอาศัยความร่วมมือของแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู นักกายภาพบำบัด นักจิตกรรมบำบัด ทีมผู้รักษา ผู้ป่วย ญาติ และผู้ดูแล เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถฟื้นฟูได้เต็มที่ ตามความสามารถของผู้ป่วยแต่ละคน

การฟื้นฟู

          ส่วนใหญ่ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองมักมีความพิการหลงเหลืออยู่ การฟื้นฟูเป็นสิ่งที่จำเป็นเนื่องจากการช่วยกระตุ้นการฟื้นตัวของสมองและกล้ามเนื้อ ลดความพิการซ้ำซ้อนเพื่อให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ทั้งความสามารถในการดำเนินชีวิตประจำวัน การทำงานและการเข้าสังคม ดังนั้น ทีมสหวิชาชีพ ควรร่วมกันเริ่มตั้งแต่ในระยะแรกที่ผู้ป่วยอยู่ในโรงพยาบาลเพื่อที่จะประเมิน วางแผนและให้การฟื้นฟูเนิ่นๆรวมถึงการเยี่ยมบ้าน เพื่อดูแลรักษาและฟื้นฟูผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง

          การฟื้นฟูสมรรถภาพ ถือเป็นองค์ประกอบที่สำคัญในการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ผู้ป่วยจะได้รับประโยชน์อันสูงสุดถ้าได้รับการบำบัดฟื้นฟูอย่างรวดเร็วที่สุดหลังจากอาการของโรคคงที่แล้ว ปัญหาต่างๆที่พบในพบในอาการครั้งแรกจาการเคลื่อนไหวของร่างกาย หรือการนอนอยู่บนเตียงนานๆ ทำให้เกิดภาวะ deconditioning  ตามมาซึ่งจะนำไปสู่ปัญหา ข้อยึดติด แผลกดทับ ภาวะแทรกซ้อนของระบบหายใจเป็นต้น

         จุดประสงค์ในการฟื้ฟูในระยะเฉียบพลันคือการป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากการนอนนิ่งๆ บนเตียงนานๆ ช่วยผู้ป่วยให้มีการเคลื่อนไหว โดยเน้นให้มี early activation remobilization การให้ความรู้คำแนะนำแก่ผู้ป่วยและญาติ รวมทั้งการกระตุ้นและฝึกผู้ป่วยให้สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้เอง


การบำบัดฟื้นฟูผู้ป่วย


          1. ปัญหาแขนและขาอ่อนแรง ควรทำกายภาพบำบัดเพื่อให้กล้ามเนื้อฟื้นตัวมากขึ้น โดยการจัดท่านอน การบริหารข้อ ฝึกนั่ง ยืน เดิน และขึ้นลงบันได นอกจากนี้ควรฝึกการเคลื่อนไหวของมือและแขน ฝึกทำกิจกรรมต่างๆเช่น การรับประทานอาหาร ใส่เสื้อฟ้า และกางเกง อาบน้ำเป็นต้น

          2. ปัญหาด้านการกลืน ในระยะแรกผู้ป่วยที่ยังดูดกลืนอาหารไม่ได้ ควรใช้สายยางให้อาหารก่อน หลังจากอาการทั่วไปดีขึ้น ควรฝึกกล้ามเนื้อที่ใช้ในการรับประทานอาหาร ฝึกกลืนโดยใช้อาหารดัดแปลง ถ้าแน่ใจแล้วว่าผู้ป่วยสามารถกลืนอาหารได้ปลอดภัย และเพียงพอ จึงพิจารณาไม่ใช้สายยางให้อาหาร

          3.ปัญหาการสื่อสาร เนื่องจากรอยโรคในสมองซีกซ้าย ควบคุมด้านการพูดการใช้และการรับรู้ภาษา ดังนั้นผู้ป่วยอัมพาตซีกขวาอาจมีปัญหาในการสื่อสารไม่เข้าใจ สิ่งที่ได้ฟัง พูดไม่ได้ ใช้คำผิด ผู้ป่วยควรได้รับกรฝึกเพื่อให้สื่อสารได้มากที่สุด

          4.ปัญหากล้ามเนื้อเกร็ง  ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดในสมอง จะมีอาการเกร็งมากน้อยขึ้นกับพยาธิสภาพของสมอง บางครั้งอาการเกร็งอาจเป็นอุปสรรคในการบำบัดฟื้นฟู และทำให้ข้อต่างๆยึดติดได้


ปัจจัยที่พยากรณ์การฟื้นฟูได้ผลดี (
Positive Predictors)

         1. ได้รับการสนับสนุนจากครอบครัวและสังคมอย่างเหมาะสม
         2. มีการฟื้นตัวของการควบคุมการขับถ่ายปัสสาวะภายใน 1-2 สัปดาห์หลังเกิดโรค
         3. มีการฟื้นตัวของกล้ามเนื้อลำตัว สะโพก หัวไหล่ โดยเฉพาะกล้ามเนื้อส่วนต้น
         4. มีการฟื้นตัวของกล้ามเนื้อและสามารถควบคุมกล้ามเนื้อแต่ละมัด ได้ภายใน4-6 สัปดาห์หรือไม่เกิน 3 เดือน
         5. มีอารมณ์ดีไม่ซึมเศร้า และมีความตั้งใจในการฝึก
         6. มีการรับรู้ที่ดี

ปัจจัยที่พยากรณ์การฟื้นฟูได้ผลไม่ดี(Negative Predictors)

         1. ผู้ป่วยอยู่ในภาวะหมดสตินานเกินไป
         2. กล้ามเนื้ออ่อนปวกเปียกนานกว่าปกติเช่น นานกว่า 2 เดือน
         3. มีอาการเกร็งของกล้ามเนื้อต้นแขนหรือขาอย่างมาก
         4. ไม่สามารถควบคุมการถ่ายปัสสาวะอุจจาระได้เองภายใน 2-3 สัปดาห์
         5. มีอาการละเลยร่างกายครึ่งซีกอย่างรุนแรง
         6. มีความบกพร่องในการรับรู้ความสัมพันธ์ระหว่างวัตถุและการได้ยิน
         7. มีความบกพร่องทางสติปัญญาความจำอย่างรุนแรง จนไม่สามารถติดตามขั้นตอนการฝึกได้
         8. เคยเป็นโรคหลอดเลือดสมองมาก่อน
         9. มีอารมณ์ซึมเศร้าอย่างมาก
       10. มีโรคอื่นร่วมด้วย เช่นโรคหัวใจ ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการฟื้นฟู

          สำหรับการฟื้นฟูผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองให้ได้ผลดีที่สุด ผู้ป่วยควรได้รับการฟื้นฟูอย่างเร็วที่สุด โดยเฉพาะการฟื้นฟูในช่วง 3 เดือนแรกหลังเกิดอาการจะได้ผลดีที่สุด ซึ่งทางการแพทย์ถือว่าเป็นโอกาสทองของการฟื้นฟู ซึ่งการฟื้นฟูผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองต้องเป็นแบบองค์รวม โดยทำการประเมินผู้ป่วยและครอบครัว เพื่อค้นหาปัญหาความบกพร่องของร่างกายและจิตใจ การสูญเสียความสามารถ และความด้อยโอกาส ทำให้สามารถตั้งเป้าหมาย วางแนวทางการฟื้นฟูอย่างเหมาะสม เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถกลับเข้าสู่ครอบครัว สังคม และมีคุณภาพชีวิตที่ดี